โดย รศ.ดร.อัญชลี สงวนพงษ์
เครือข่ายนวัตกรรมอินทรีย์ (Organic Agriculture Innovation Network: OAIN)
วิทยาลัยเกษตรอินทรีย์นานาชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่

ความเชื่อมโยงของตลาดกระแสโลก กับ มาตรฐานเครื่องสำอาง ACT C&H

ทำไมเราจึงต้องสนใจเรื่องเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางออร์แกนิคและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม (Organic and Natural Cosmetic & Healthcare Products) จากข้อมูลการศึกษาแนวโน้มการตลาดในภาคอุตสาหกรรมเครื่องสำอางของโลกของหลายสำนักวิจัย ได้มีการแบ่งผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางออกเป็นหลายกลุ่ม (Segments) Statista (Germany) ระบุว่ากลุ่มที่มีความโดดเด่นมากที่สุดคือกลุ่ม Organic skincare มีสัดส่วนในตลาดโลกถึง 36.4 % ในปี 2016 และรายงานของ Grand View Research, Inc. ก็ระบุว่าผลิตภัณฑ์กลุ่ม Organic skincare จะเติบโตไปถึง 12.58 พันล้านยูเอสดอลล่าร์ กลุ่มผลิตภัณฑ์เหล่านี้เช่น ครีมบำรุงผิวหน้า โลชั่นบำรุงผิว ซันสกรีน ฯลฯ เติบโตไปพร้อมๆกับความตื่นตัวของผู้บริโภคที่สนใจในผลิตภัณฑ์ที่ใส่ใจต่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมโลก ปฏิเสธการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ aluminum salts, parabens และ phthalates ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง Life style ของผู้บริโภค และจะเป็นตัวกระตุ้นให้ภาคการผลิตสินค้าออร์แกนิคและแนชเชอร์รัลขยายตัวต่อไปได้อีกมากในอนาคต

Industry Insights

อัตราการเติบโตของตลาด skin care ในสหรัฐอเมริกาในระหว่างปี 2012-2022 (USD Billion)


ที่มา: http://www.grandviewresearch.com/industry-analysis/organic-skin-care-market

ถนนทุกสายวิ่งสู่ออร์แกนิค

เมื่อพูดถึง Beauty Market ตลาดเพื่อสุขภาพและความสวยความงามในตลาดโลกที่เป็นออร์แกนิคมีมูลค่าการเติบโตมหาศาล หลายท่านที่เคยไปร่วมงาน BIOFACH ที่เยอรมันนี จะเห็นว่ามีเวทีคู่ขนานที่เป็นสินค้าความสวยความงามมีขนาดใหญ่โตมากเรียกว่า VIVANESS ที่นี่เราจะเห็นสินค้าหลากหลาย และมีความเป็นนวัตกรรม เป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ออร์แกนิค

Market overview

มูลค่าการตลาดของ Natural and Organic Beauty Market ในปี 2027 จะอยู่ที่ 54,000 ล้านยูเอสดอลล่าร์

มีรายงานผลการวิจัยของบริษัทผลิตเครื่องสำอางยักษ์ใหญ่ของโลกที่เก็บรวบรวมข้อมูลในปลายปี 2019 ระบุว่าแนวโน้มอัตราการเติบโตของรายได้ภาคอุตสาหกรรมเครื่องสำอางมีมากกว่า 10 % (CAGR = Compound Annual Growth Rate) ซึ่งเป็นการวัดเปอร์เซนต์การเปลี่ยนแปลงข้อมูลโดยเฉลี่ยต่อปี และภูมิภาคที่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเร็วและมากอยู่ที่ภูมิภาคอาเซียและแปซิฟิค

การคาดการณ์ (forecast) สำหรับตลาดในภาพรวมถึงปี 2025 จะโตขึ้นได้อีก 10% นอกจากนี้ยังมีความน่าสนใจของตลาดเฉพาะทาง (Niche market) ที่เกิดขึ้นใหม่ในขณะนี้คือ ฮาลาลคอสเมติก (Halal cosmetics) ที่กำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้น คาดว่าอาจจะโตถึง 15% จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจนอกเหนือจากความเป็นออร์แกนิคและแนชเชอร์รัล

ตลาดเครื่องสำอางเดิมกลุ่ม Color cosmetic เครื่องสำอางที่ให้สีทั้งหลาย เช่น ลิปสติก อายแชโด้ ฯลฯ มีอัตราการเติบโตมากถึง 7.4 %

จากอัตราการเติบโตของมูลค่าการตลาดบางส่วนที่กล่าวถึง จึงถือได้ว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการใหม่ๆที่จะเข้ามาสู่อุตสาหกรรมนี้

Key Market Trends

  • ส่วนแบ่งหลักทางการตลาดของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางก็คือ ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคและแนชเชอร์รัล ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว personnel care product การดูแลผิวพรรณเป็น segment ที่ค่อนข้างโดดเด่น แม้ว่าจะเป็นช่วงโควิดระบาด ผลิตภัณฑ์ในสกุลสกินแคร์ออร์แกนิคและแนชเชอร์รัลก็ยังเป็นกลุ่มที่ขายดีมาก ได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคที่จะซื้อหา ถือเป็นพรีเมี่ยมโพรดักส์ทีเดียว
  • ส่วนภาพรวมของตลาด (market scenario) เอเชียแปซิฟิคถือว่าโดดเด่นที่สุด มีมาร์จิ้น Margin ของตลาดสูงมาก มีมูลค่าการซื้อขายสูง และเป็นตลาดที่มีไดนามิค (dynamic) มากที่สุดในปัจจุบัน
  • ส่วน Competitive landscape ภาพรวมยังเป็นผลิตภัณฑ์กลุ่ม Personal care products ที่โดดเด่น และผู้ที่มีบทบาทมากก็คือผู้ประกอบการรายย่อยและถูกท้าทายที่จะก้าวข้ามไปสู่ตลาดที่มีขนาดใหญ่ได้ ก้าวข้าม barrier ต่างๆ ได้ถ้ามีมาตรฐาน
  • ความน่าสนใจหลักของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง คือเรื่องการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา หรือ R&D ทำอย่างไรจึงจะสร้างแบรนด์ให้ลูกค้าหรือผู้บริโภคเกิดความไว้วางใจเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าให้โดดเด่นขึ้นมา ปัจจุบันเป็นที่รับรู้กันว่า การใช้นวัตกรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ทำให้ผู้บริโภคหันมาสนใจเป็นประเด็นที่อยู่ใน Trend ซึ่งนวัตกรรมที่จะสร้างได้ต้องเป็นนวัตกรรมที่ต้องมีความยั่งยืน

Global Innovation Trends

ปัจจุบันมีหลายประเด็นเกี่ยวกับนวัตกรรมที่มีความยั่งยืนที่โลกให้ความสนใจ เกี่ยวข้องทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ (Upstream, Midstream, Downstream)

  • Upstream มี 2 เรื่องคือ
    -Ethical sourcing of ingredients แหล่งที่มาของวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรองมาตรฐาน ACT C&H จะให้ความสนใจที่มาของส่วนผสมในเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ที่จะต้องนำผลพลอยได้จากการผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์ หรือจากแหล่งธรรมชาติมาใช้ รวมถึงไม่ใช่ส่วนผสมที่มาจากสัตว์ทดลอง (Cruelty-free) เป็นต้น
    -Organic and sustainable production methods มาตรฐานี้จะคำนึงถึงกรรมวิธีการผลิตในระบบอินทรีย์ มีความยั่งยืนและมีการรักษาคุณภาพของสิ่งแวดล้อม
  • Midstream มี 4 เรื่องคือ
    -Energy source and Uses หมายถึงการใส่ใจต่อการใช้พลังงานในกระบวนการผลิตสินค้า ที่สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ทดแทนพลังงานเชื้อเพลิงจากบรรพชีวิน เช่น ถ่านหินซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด และเพื่อช่วยลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม
    -Carbon and water management เป็นการบริหารจัดการเพื่อลดการปลดปล่อย CO2 ไปก่อมลภาวะให้แก่ชั้นบรรยากาศของโลก กับเรื่องการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน เพราะขณะนี้โลกกำลังเผชิญปัญหาทั้งปริมาณน้ำ คุณภาพน้ำ และการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างไม่เหมาะสม
    -Waste management การบริหารจัดการขยะของเสีย ของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตสินค้าในภาคอุตสาหกรรมที่ไม่ถูกวิธี สร้างผลกระทบต่อคนและสิ่งแวดล้อมในชุมชน
    -Operational efficiency ประสิทธิผลของการปฏิบัติการ
  • Downstream
    -Green chemistry formulation แนวคิดของการนำหลักการพื้นฐานที่คำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้สารเคมีเป็นอันดับแรก เช่น การผสมปรุงแต่งสูตรเครื่องสำอางต่างๆ ในมาตรฐาน ACT C&H จะอนุญาตให้ใช้เฉพาะที่ปรากฏใน Positive lists ทุกรายการจะอยู่ในส่วนของ Green chemistr
    -Sustainable packaging บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม สามารถย่อยสลายได้หรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ขณะนี้ประเทศไทยก็ได้ประกาศนโยบาย BCG Economy Model (Bio-economy, Circular economy, Green economy) เพื่อกระตุ้นให้ไทยพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานรากที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ภายใต้ Trends เหล่านี้ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์อินทรีย์และผลิตภัณฑ์แนชเชอร์รัลจำนวนมากที่ดึงเอาหัวใจของการสร้างความยั่งยืนมาสร้างเป็นความโดดเด่นให้กับสินค้า เช่น บางบริษัทผลิตสินค้าประเภทแนชเชอร์รัลโพรดักส์ ก็จะพูดถึงที่มาของวัตถุดิบที่ใช้เป็นส่วนผสมว่านอกจากจะดีต่อชุมชนแล้วยังดีต่อโลกใบนี้ด้วย ทำให้สร้างความรู้สึกปลอดภัยและความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับผู้บริโภคได้ ในขณะที่บางบริษัทก็กล่าวว่าที่มาของวัตถุดิบทั้งหมดมาจากพืชเท่านั้น ไม่มีส่วนผสมที่มาจากการทดลองในสัตว์เลย ซึ่งจะเห็นว่าได้มีความพยายามในการตีความในเชิงของ ethical sourcing of ingredients อีกด้วย

ลูกค้าคือคนสำคัญ (Customer Focus)

สิ่งที่ผู้ประกอบการเครื่องสำอางจำเป็นต้องให้ความสนใจอย่างยิ่ง คือการตื่นตัวหรือความตระหนักของผู้บริโภคปลายทาง 2 เรื่อง เรื่องแรกคือเรื่องความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีวัตถุดิบจากระบบเกษตรอินทรีย์ หรือจากธรรมชาติมาเป็นส่วนผสม ก็จะทำให้ผู้บริโภคให้การยอมรับว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยอย่างแน่นอน เรื่องที่สองคือการดูแลสิ่งแวดล้อม การใช้เครื่องสำอางของผู้บริโภคเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมอย่างไร ทั้งสองเรื่องนี้ได้ถูกเขียนไว้เป็นข้อกำหนดในมาตรฐาน ACT C&H ทั้งหมดแล้ว

ผู้บริโภคปลายทางที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของเราคือใครบ้าง ก็คือผู้ที่อยู่กับโลกสีเขียว ผู้ที่มีความตระหนักในเรื่องความซื่อสัตย์ของแบรนด์ที่รับใช้สังคม แบรนด์ที่ดูแลสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภคเหล่านี้เป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์ต่อแบรนด์ และมีความตระหนักในเรื่องของนวัตกรรม เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการที่จะทำงานเกี่ยวกับสินค้ามาตรฐานสากลไม่ว่าจะอยู่ในภูมิภาคไหนก็ตาม จะต้องคิดถึงสิ่งเหล่านี้ด้วย

หลักการและความมุ่งหมายของ ACT C&H Standard

ทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วได้ถูกนำมาเขียนไว้ในหลักการและความมุ่งหมายของการจัดทำมาตรฐาน ACT C&H ในข้อแรกคือ ส่งเสริมให้มีการใช้วัตถุดิบและผลพลอยได้จากเกษตรอินทรีย์มาใช้อย่างกว้างขวาง ประโยคนี้สะท้อนถึง Global trend ทุกประเด็น รวมถึง Global innovation trend และ Key market overview

หลักการและความมุ่งหมายข้อที่สอง ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ข้อนี้เป็นหัวใจของมาตรฐาน จึงอยากเชิญชวนผู้ประกอบการให้ความสนใจใช้มาตรฐาน ACT C&H เพราะเป็นประเด็นระดับโลก และมีความมุ่งหวังให้ ACT C&H เป็นสปริงบอร์ดให้ผู้บริโภค เป็นสปริงบอร์ดให้ผู้ผลิตได้มาพบเจอกัน และสร้างชุมชนของผู้ผลิตผู้บริ่โภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ใส่ใจสุขภาพ ใส่ใจต่อระบบเกษตรกรรมที่ดี ใส่ใจต่อแหล่งที่มาของวัตถุดิบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งวัตถุดิบที่มาจากระบบเกษตรอินทรีย์ และเกษตรกรรมยั่งยืนในรูปแบบต่างๆ

ส่วนหลักการและความมุ่งหมายข้อที่สามของมาตรฐานนี้ยังสนับสนุนการประกอบการที่มีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็น Fair and Share ความเป็นธรรมในสังคม แฟร์ต่อผู้บริโภค แฟร์ต่อสิ่งแวดล้อม และก็แชร์มูลค่าและความรับผิดชอบนี้กลับลงไปยังสังคม

และข้อสุดท้ายก็กล่าวถึงมาตรฐานนี้ว่าเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดความโปร่งใสและสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคโดยแท้จริง

การร่วมมือกันจัดทำมาตรฐาน ACT C&H เป็นความร่วมมือทางวิชาการของหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง (Stakeholders) เพื่อที่จะนำเอาคุณค่าของสินค้าไทยและอาเซียนไปสู่เวทีโลก ขอให้พวกเรามาช่วยกันพัฒนาสินค้าให้ได้รับการรับรองกันให้มากๆ เพื่อที่ในอนาคตเราจะเป็นหนึ่งในสินค้าที่อยู่บนเวทีโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่ม Beauty market ซึ่งตลาดเติบโตมหาศาล นับว่าเป็นโอกาสที่ดีและเป็นก้าวที่สำคัญของผู้ประกอบการไทยและภูมิภาคอาเซียนที่จะได้ผลิตเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามที่มีคุณภาพตอบสนองต่อกระแสการพัฒนาสิ่งแวดล้อมของโลกอย่างยั่งยืนออกไปสู่เวทีโลก

*นาถฤดี นาครวาจา เรียบเรียงจากการบรรยายวันที่ 23 มีนาคม 2564
ที่กองส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล้วยน้ำไท กรุงเทพฯ